สุปปิยปริพาชกติเตียนพระพุทธเจ้า พระธรรมและ พระสงฆ์

   สุปปิยปริพาชกติเตียนพระพุทธเจ้า พระธรรมและ พระสงฆ์


 ในสมัยหนึ่งพระพุทธเจ้า ได้เสด็จพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์โดยประมาณ500รูป ในการเดินทางระหว่างเมืองราชคฤห์ไปยังเมืองนาฬันทา  ในระหว่างทาง มีพราหมณ์สุปปิยะ ผู้มีความเชื่อดั้งเดิมในสมัยนั้นได้ตำหนิติเตียนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ในขณะที่ศิษย์พรหมฑัตปริพาชกที่เดินมาด้วยกันกลับชื่นชมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์  ดังปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ดังนี้
     พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ 9 ข้อที่ 2-3   หน้าที่ 3
     พระสุตตันตปิฏก เล่ม 1 ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
                                                1. พรหมชาลสูตร
                                                เรื่องสุปปิยปริพาชกกับพรหมทัตตมานพ
            “...ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
            สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เสด็จดำเนินทางไกลระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาฬันทา
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ 500 รูป แม้สุปปิยปริพาชกก็ได้เดินทางไกลระหว่างกรุง
ราชคฤห์กับเมืองนาฬันทา พร้อมด้วยพรหมทัตตมาณพผู้อันเตวาสิก. ได้ยินว่าในระหว่างทางนั้น.
สุปปิยปริพาชก กล่าวติพระพุทธเจ้า ติพระธรรม ติพระสงฆ์ โดยอเนกปริยาย ส่วน
พรหมทัตตมาณพอันเตวาสิกของสุปปิยปริพาชก กล่าวชมพระพุทธเจ้า ชมพระธรรม ชม
พระสงฆ์ โดยอเนกปริยาย อาจารย์และอันเตวาสิกทั้งสองนั้น มีถ้อยคำเป็นข้าศึกแก่กันโดยตรง
ฉะนี้ เดินตามพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ไปข้างหลังๆ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จ
เข้าไปประทับแรมราตรีหนึ่ง ณ พระตำหนักหลวง ในพระราชอุทยาน อัมพลัฏฐิกาพร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์ แม้สุปปิยปริพาชก ก็ได้เข้าพักแรมราตรีหนึ่ง ใกล้พระตำหนักหลวงในพระราชอุทยาน
อัมพลัฏฐิกา กับพรหมทัตตมาณพผู้อันเตวาสิก ได้ยินว่าแม้ ณ ที่นั้น สุปปิยปริพาชก ก็กล่าว
ติพระพุทธเจ้า ติพระธรรม ติพระสงฆ์โดยอเนกปริยาย ส่วนพรหมทัตตมาณพ อันเตวาสิก
ของสุปปิยปริพาชก กล่าวชมพระพุทธเจ้า ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์ โดยอเนกปริยาย
าจารย์และอันเตวาสิกทั้งสองคนนั้น มีถ้อยคำเป็นข้าศึกแก่กันโดยตรงฉะนี้ (เดินตาม
พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ไปข้างหลังๆครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่ง นั่ง
ประชุมกันอยู่ ศาลานั่งเล่น เกิดสนทนากันว่า ท่านทั้งหลาย เท่าที่พระผู้มีพระภาคผู้รู้เห็น
เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงทราบความที่หมู่สัตว์มีอัธยาศัยต่างๆ กันได้
เป็นอย่างดีนี้ น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมา ความจริงสุปปิยปริพาชกผู้นี้ กล่าวติพระพุทธเจ้า
ติพระธรรม ติพระสงฆ์ โดยอเนกปริยาย ส่วนพรหมทัตตนาณพอันเตวาสิกของสุปปิยปริพาชก
กล่าวชมพระพุทธเจ้า ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์ โดยอเนกปริยาย อาจารย์และอันเตวาสิก
ทั้งสองนี้ มีถ้อยคำเป็นข้าศึกแก่กันโดยตรงฉะนี้ เดินตามพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ไป
ข้างหลังๆ
          ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงทราบคำสนทนาของภิกษุเหล่านั้นแล้วเสด็จไปยัง
ศาลานั่งเล่น ประทับ อาสนะที่เขาจัดถวาย แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
บัดนี้เธอทั้งหลายนั่งประชุมสนทนาอะไรกัน และเรื่องอะไรที่พวกเธอพูดค้างไว้ เมื่อตรัสอย่างนี้
แล้ว ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ที่นี้ เมื่อพวกข้า
พระพุทธเจ้าลุกขึ้น เวลาใกล้รุ่ง นั่งประชุมกันอยู่ที่ศาลานั่งเล่น เกิดสนทนากันขึ้นว่า ท่าน
ทั้งหลาย เท่าที่พระผู้มีพระภาคผู้รู้เห็นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงทราบ
ความที่หมู่สัตว์มีอัธยาศัยต่างๆ กันได้เป็นอย่างดีนี้ น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมา ความจริง
สุปปิยปริพาชกนี้ กล่าวติพระพุทธเจ้า ติพระธรรม ติพระสงฆ์ โดยอเนกปริยาย ส่วน
พรหมทัตตมาณพอันเตวาสิกของสุปปิยปริพาชก กล่าวชมพระพุทธเจ้า ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์
โดยอเนกปริยาย อาจารย์และอันเตวาสิกทั้งสองนี้ มีถ้อยคำเป็นข้าศึกแก่กันโดยตรง ฉะนี้
เดินตามพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ไปข้างหลังๆ พระพุทธเจ้าข้า เรื่องนี้แลที่พวกข้าพระพุทธเจ้า
พูดค้างไว้ พอดีพระองค์เสด็จมาถึง.
          พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม
ติพระสงฆ์ ก็ตาม เธอทั้งหลายไม่ควรอาฆาต ไม่ควรโทมนัสน้อยใจ ไม่ควรแค้นใจในคนเหล่านั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์ ถ้าเธอทั้งหลายจักขุ่นเคือง
หรือจักโทมนัสน้อยใจในคนเหล่านั้น อันตรายจะพึงมีแก่เธอทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นเป็นแน่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์ ถ้าเธอทั้งหลายจักขุ่นเคือง
หรือจักโทมนัสน้อยใจในคนเหล่านั้น เธอทั้งหลายจะพึงรู้คำที่เขาพูดถูก หรือคำที่เขาพูดผิดได้
ละหรือ?
          ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้ทีเดียว พระพุทธเจ้าข้า.
          พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม
ติพระสงฆ์ ในคำที่เขากล่าวตินั้น คำที่ไม่จริง เธอทั้งหลายควรแก้ให้เห็นโดยความไม่เป็นจริงว่า
นั่นไม่จริง แม้เพราะเหตุนี้ นั่นไม่แท้ แม้เพราะเหตุนี้ แม้นั่นก็ไม่มีในเราทั้งหลาย และคำนั้น
จะหาไม่ได้ในเราทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวชมเรา ชมพระธรรม
ชมพระสงฆ์ เธอทั้งหลายไม่ควรเบิกบานใจ ไม่ควรดีใจ ไม่ควรกระเหิมใจในคำชมนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวชมเรา ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ถ้าเธอทั้งหลายจักเบิกบานใจ จักดีใจ จักกระเหิมใจในคำชมนั้น อันตรายจะพึงมีแก่เธอทั้งหลาย
เพราะเหตุนั้นเป็นแน่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวชมเรา ชมพระธรรม หรือ
ชมพระสงฆ์ ในคำชมนั้น คำที่จริง เธอทั้งหลายควรปฏิญาณให้เห็นโดยความเป็นจริงว่า นั่นจริง
แม้เพราะเหตุนี้ นั่นแท้ แม้เพราะเหตุนี้ แม้คำนั้นก็มีในเราทั้งหลาย และคำนั้นจะหาได้ใน
เราทั้งหลาย.

 อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พรหมชาลสูตร

 สุปปิยปริพาชกกล่าวโทษพระพุทธเจ้า ความว่า กล่าวติ คือกล่าวโทษ กล่าวตำหนิพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าผู้เว้นจากโทษอันไม่ควรสรรเสริญ ผู้แม้ประกอบด้วยคุณที่ควรสรรเสริญหาประมาณมิได้อย่างนั้นๆ โดยกล่าวเหตุอันไม่สมควรนั้นๆ นั่นแหละว่า เป็นเหตุอย่างนี้ ว่า
 พระสมณโคดมเป็นคนไม่มีรส เพราะเหตุที่พระสมณโคดมไม่มีการกระทำสามีจิกรรมมีการกราบไหว้เป็นต้นอันควรกระทำในผู้ใหญ่โดยชาติในโลกที่เรียกว่าสามัคคีรส.
 พระสมณโคดมเป็นคนไม่มีโภคะ 
พระสมณโคดมเป็นคนกล่าวการไม่กระทำ
 พระสมณโคดมเป็นคนกล่าวความขาดสูญ 
พระสมณโคดมเป็นคนเกลียดชัง 
พระสมณโคดมเป็นคนเจ้าระเบียบ 
พระสมณโคดมเป็นคนตบะจัด
 พระสมณโคดมเป็นคนไม่ผุดเกิด 
พระสมณโคดมไม่มีธรรมอันยิ่งของมนุษย์ซึ่งเป็นญาณและทัศนะอันวิเศษที่ควรแก่พระอริยเจ้า 
พระสมณโคดมแสดงธรรมที่ตรึกเอง ที่ตรองเอง ที่รู้เอง
 พระสมณโคดมไม่ใช่สัพพัญญู ไม่ใช่โลกวิทู ไม่ใช่คนยอดเยี่ยม ไม่ใช่อัครบุคคล ดังนี้
               
และกล่าวเหตุอันไม่ควรนั้นๆ นั่นแหละว่า เป็นเหตุ กล่าวโทษแม้พระธรรม เหมือนอย่างกล่าวโทษพระพุทธเจ้าโดยประการนั้นๆ ว่า ธรรมของพระสมณโคดมกล่าวไว้ชั่ว รู้ได้ยาก ไม่เป็นธรรมที่นำออกจากทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ.
               
และกล่าวเหตุอันไม่สมควร ไม่ว่าอย่างใดอย่างหนึ่ง นั่นเองว่า เป็นเหตุ กล่าวโทษแม้พระสงฆ์ เหมือนอย่างพระธรรมโดยประการนั้นๆ ว่า พระสงฆ์สาวกของพระสมณโคดมปฏิบัติผิด ปฏิบัติคดโกง ปฏิบัติปฏิปทาที่ขัด ปฏิปทาที่แย้ง ปฏิปทาอันไม่เป็นธรรมสมควรแก่ธรรมดังนี้ โดยอเนกปริยาย.
               
ฝ่ายพรหมทัตมาณพศิษย์ของสุปปิยปริพาชกนั้นผุดคิดขึ้นโดยอุบายอันแยบคายอย่างนี้ว่า อาจารย์ของพวกเราแตะต้องสิ่งที่ไม่ควรแตะต้อง เหยียบสิ่งที่ไม่ควรเหยียบ อาจารย์ของพวกเรานี้นั้นกล่าวติพระรัตนตรัยซึ่งควรสรรเสริญเท่านั้น จักถึงความพินาศย่อยยับเหมือนคนกลืนไฟ เหมือนคนเอามือลูบคมดาบ เหมือนคนเอากำปั้นทำลายภูเขาสิเนรุ เหมือนคนเล่นอยู่แถวซี่ฟันเลื่อย และเหมือนคนเอามือจับช้างซับมันที่ดุร้าย.
               
ก็เมื่ออาจารย์เหยียบคูถ หรือไฟ หรือหนาม หรืองูเห่าก็ดี ขึ้นทับหลาวก็ดี เคี้ยวกินยาพิษอันร้ายแรงก็ดี กลืนน้ำกรดก็ดี ตกเหวลึกก็ดี ไม่ใช่ศิษย์จะต้องทำตามนั้นไปเสียทุกอย่าง ด้วยว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ย่อมไปสู่คติตามควรแก่กรรมของตนแน่นอน มิใช่บิดาจะไปด้วยกรรมของบุตร มิใช่บุตรจะไปด้วยกรรมของบิดา มิใช่มารดาจะไปด้วยกรรมของบุตร มิใช่บุตรจะไปด้วยกรรมของมารดา มิใช่พี่ชายจะไปด้วยกรรมของน้องสาว มิใช่น้องสาวจะไปด้วยกรรมของพี่ชาย มิใช่อาจารย์จะไปด้วยกรรมของศิษย์ มิใช่ศิษย์จะไปด้วยกรรมของอาจารย์.
               
ก็อาจารย์ของเรากล่าวติพระรัตนตรัย และการด่าพระอริยเจ้าก็มีโทษมากจริงๆ ดังนี้ เมื่อจะย่ำยีวาทะของอาจารย์ อ้างเหตุผลเหมาะควร เริ่มกล่าวสรรเสริญพระรัตนตรัยโดยอเนกปริยาย ทั้งนี้เพราะพรหมทัตมาณพเป็นกุลบุตรมีเชื้อชาติบัณฑิต ด้วยเหตุนั้น ท่านพระอานนท์จึงกล่าวว่า ส่วนพรหมทัตมาณพศิษย์ของสุปปิยปริพาชกกล่าวชมพระพุทธเจ้า ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์ โดยอเนก

 อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พรหมชาลสูตร
สุปปิยปริพาชกพบพระผู้มีพระภาคเจ้า               
               ครั้งนั้น ปริพาชกครั้นได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปด้วยพุทธลีลาอันหาที่เปรียบมิได้ และเห็นภิกษุทั้งหลายมีจักษุทอดลง มีอินทรีย์สงบ มีใจสงบ กำลังถวายนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นดั่งดวงจันทร์เพ็ญที่ลอยเด่นอยู่บนนภากาศ ฉะนั้น อย่างนี้แล้ว ได้เหลียวดูบริษัทของตน. บริษัทของปริพาชกนั้นมากไปด้วยหาบบริขารมิใช่น้อย มีตั่งเล็กๆ สามง่าม บาตรดินมีสีดังแววหางนกยูง กะทอและคนโทน้ำเป็นต้น ซึ่งห้อยอยู่ที่ไม้คานหาบมาพะรุงพะรัง ทั้งปากกล้า กล่าววาจาหาประโยชน์มิได้ มีอาทิอย่างนี้ว่า มือของคนโน้นงาม เท้าของคนโน้นงาม มีวาจาเพ้อเจ้อ ไม่น่าดู ไม่น่าเลื่อมใส. ครั้นเห็นดังนั้น เขาเกิดวิปฏิสาร. ในกาลบัดนี้ ควรที่เขาจะกล่าวสรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้า. แต่เพราะเหตุที่ปริพาชกนี้ริษยาพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ตลอดกาลเป็นนิจ เพราะความเสื่อมแห่งลาภสักการะ และความเสื่อมพรรคพวก ด้วยว่าลาภสักการะย่อมบังเกิดแก่อัญเดียรถีย์ทั้งหลาย ตลอดเวลาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายยังมิได้เสด็จอุบัติในโลก แต่จำเดิมแต่พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้น อัญเดียรถีย์ทั้งหลายก็พากันเสื่อมลาภสักการะ ถึงความเป็นผู้ไร้สง่าราศี ดั่งหิ่งห้อยเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นฉะนั้น.
               
ก็ในเวลาที่อุปติสสะและโกลิตะบวชในสำนักของสัญชัยนั้น พวกปริพาชกได้มีบริษัทมาก แต่เมื่ออุปติสสะและโกลิตะหลีกไป บริษัทของพวกเขาแม้นั้นก็พากันแตกไป. ด้วยเหตุ 2ประการดังกล่าวมานี้ พึงทราบว่าสุปปิยปริพาชกนี้เมื่อคายความริษยานั้นออกมา กล่าวติพระรัตนตรัยทีเดียว เพราะริษยาพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่เป็นนิจ
ในครั้งนั้นแลพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปด้วยพุทธลีลานั้น ถึงประตูพระราชอุทยานอัมพลัฏฐิกาโดยลำดับ ทอดพระเนตรดูพระอาทิตย์ มีพระพุทธดำริว่า บัดนี้มิใช่กาลที่จะไป พระอาทิตย์ใกล้อัสดงคต จึงเสด็จเข้าประทับพักแรมราตรีหนึ่ง ณ พระตำหนักหลวง ในพระราชอุทยานอัมพลัฏฐิกา.
               
ในพระบาลีนั้น อุทยานของพระราชา ชื่อว่า อัมพลัฏฐิกา.
               
ได้ยินว่า ณ ที่ใกล้ประตูแห่งอุทยานนั้นมีต้นมะม่วงหนุ่มอยู่ ซึ่งคนทั้งหลายเรียกว่า อัมพลัฏฐิกา แม้อุทยานก็พลอยชื่อว่าอัมพลัฏฐิกาด้วย เพราะอยู่ใกล้มะม่วงหนุ่มต้นนั้น. อุทยานนั้นสมบูรณ์ด้วยร่มเงาและน้ำ มีกำแพงล้อมรอบ มีประตูประกอบไว้อย่างดี คุ้มครองอย่างดี ปานดังหีบฉะนั้น. ในอุทยานนั้นได้สร้างพระตำหนักอันวิจิตรด้วยประดิษฐกรรม เพื่อเป็นที่เล่นทรงสำราญพระราชหฤทัย พระตำหนักนั้นจึงเรียกกันว่า พระตำหนักหลวง.
               
แม้สุปปิยปริพาชกแลดูพระอาทิตย์ ณ ที่ตรงนั้นแล้ว ดำริว่า บัดนี้มิใช่กาลที่จะไป ปริพาชกทั้งผู้น้อยและผู้ใหญ่มีอยู่มาก และทางนี้ก็มีอันตรายอยู่มาก ด้วยโจรบ้าง ด้วยยักษ์ร้ายบ้าง ด้วยสัตว์ร้ายบ้าง ก็พระสมณโคดมนี้เสด็จเข้าไปยังอุทยาน ในสถานที่ประทับของพระสมณโคดม เทวดาย่อมพากันอารักขา อย่ากระนั้นเลย แม้เราก็จักเข้าไปพักแรมราตรีหนึ่งในอุทยานนี้แล พรุ่งนี้จึงค่อยไป ครั้นดำริดังนี้แล้วจึงเข้าไปสู่อุทยานนั้นแล.
               
ลำดับนั้น ภิกษุสงฆ์แสดงวัตรถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว กำหนดสถานที่พักของตนๆ. แม้สุปปิยปริพาชกก็ให้วางบริขารของปริพาชกที่ด้านหนึ่งของอุทยาน แล้วเข้าพักแรมกับบริษัทของตน. แต่ในพระบาลีท่านกล่าวไว้ด้วยอำนาจคำที่ยกขึ้นเป็นประธานอย่างเดียวว่า กับด้วยพรหมทัตมาณพผู้เป็นศิษย์ของตน.
               
ก็ปริพาชกนั้นเข้าพักแรมอยู่อย่างนี้ ได้แลดูพระทศพลในตอนกลางคืน. และในสมัยนั้นก็ตามประทีปไว้สว่าง ดุจดาราเดียรดาษโดยรอบ. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งอยู่ตรงกลางและภิกษุสงฆ์ก็พากันนั่งล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า. แม้ภิกษุสักรูปหนึ่งในที่ประชุมนั้น ก็มิได้มีการคะนองมือ คะนองเท้า หรือเสียงไอ เสียงจามเลย. ด้วยว่าบริษัทนั้นนั่งประชุมกันสงบเงียบราวกะเปลวประทีปในที่อับลม ด้วยเหตุ 2ประการ คือ ด้วยการเป็นผู้ศึกษาอบรมแล้ว และด้วยความเคารพในพระศาสดา.
               
ปริพาชกเห็นคุณสมบัติดังนั้น จึงแลดูบริษัทของตน. ในที่ประชุมปริพาชกนั้น บางพวกก็นอนยกมือ บางพวกก็นอนยกเท้า บางพวกก็นอนละเมอ บางพวกก็นอนแลบลิ้น น้ำลายไหล กัดฟัน กรนเสียงดังครอกๆ. แม้เมื่อควรจะกล่าวสรรเสริญพระรัตนตรัย สุปปิยปริพาชกนั้นก็กล่าวติเตียนอยู่นั่นเองอีก ด้วยอำนาจความริษยา
               
ส่วนพรหมทัตมาณพกล่าวสรรเสริญตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล. ด้วยเหตุนั้น ท่านพระอานนท์จึงกล่าวว่า ได้ยินว่า แม้ในพระราชอุทยานอัมพลัฏฐิกานั้น สุปปิยปริพาชก ดังนี้ ควรกล่าวคำทั้งหมด. ในพระบาลีนั้น บทว่าตตฺรปิ ความว่า ในอุทยานชื่ออัมพลัฏฐิกาแม้นั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นใด ได้ทรงบำเพ็ญบารมี 30 ทัศแล้ว ทรงทำลายกิเลสทั้งปวง ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาน พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงทราบอาสยะและอนุสยะของเหล่าสัตว์นั้นๆ ทรงเห็นไญยธรรมทั้งปวง ดุจมะขามป้อมที่วางไว้บนฝ่าพระหัตถ์.
               
อนึ่ง ทรงทราบด้วยพระญานมีปุพเพนิวาสานุสสติญาณเป็นต้น ทรงเห็นด้วยทิพยจักษุ ก็หรือทรงทราบด้วยวิชชา 3 บ้าง ด้วยอภิญญา 6 บ้าง ทรงเห็นด้วยพระสมันตจักษุที่ไม่มีอะไรขัดข้องในธรรมทั้งปวง หรือทรงทราบด้วยพระปัญญาอันสามารถรู้ธรรมทั้งปวง ทรงเห็นรูปอันพ้นวิสัยจักษุแห่งสัตว์ทั้งปวง หรือแม้รูปที่อยู่นอกฝาเป็นต้น ด้วยพระมังสจักษุอันบริสุทธิ์ยิ่ง หรือทรงทราบด้วยพระปัญญาเครื่องแทงตลอด อันมีพระสมาธิเป็นปทัฏฐานให้สำเร็จประโยชน์เกื้อกูลแก่พระองค์ ทรงเห็นด้วยพระปัญญาเป็นเครื่องแสดง อันมีพระกรุณาเป็นปทัฏฐานให้สำเร็จประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น ทรงเป็นพระอรหันต์ เพราะทรงกำจัดข้าศึกคือกิเลส และเพราะทรงเป็นผู้ควรแก่สักการะมีปัจจัยเป็นต้น ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เพราะตรัสรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบและด้วยพระองค์เอง หรือทรงทราบธรรมที่ทำอันตราย ทรงเห็นธรรมที่นำออกจากทุกข์ ทรงเป็นพระอรหันต์ เพราะทรงกำจัดข้าศึกคือกิเลส และเพราะทรงเป็นผู้ควรแก่สักการะมีปัจจัยเป็นต้น ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เพราะตรัสรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบ และด้วยพระองค์เอง ทรงได้รับสดุดี โดยอาการทั้ง ๔ ด้วยอำนาจแห่งเวสารัชญาณ 4 ดังพรรณนามาฉะนี้ ทรงทราบดีถึงความที่สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีอธิมุติต่างๆ กัน และมีอัธยาศัยต่างๆ กัน และทรงทราบตลอดด้วยดีเพียงใด.
               
บัดนี้ เพื่อจะแสดงความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงทราบดีแล้ว ท่านจึงกล่าวคำว่า ก็สุปปิยปริพาชกนี้ ดังนี้เป็นต้น. มีคำอธิบายว่า ก็ความที่สัตว์ทั้งหลายมีอธิมุติต่างกัน มีอัธยาศัยต่างกัน มีทิฏฐิต่างกัน มีความพอใจต่างกัน มีความชอบใจต่างกันนี้ใด อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบด้วยพระสัพพัญญุตญาณอันเป็นเครื่องรู้ความที่สัตว์ทั้งหลายมีอธิมุติต่างกัน ดุจทรงตวงด้วยทะนาน และดุจทรงชั่งด้วยตาชั่ง
               
โดยพระบาลีอย่างนี้ว่า
               
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ว่าโดยธาตุ สัตว์ทั้งหลายย่อมเทียบเคียงกันเข้าได้ คือพวกที่มีอธิมุติเลวก็เทียบเคียงเข้ากันได้กับพวกที่มีอธิมุติเลว พวกที่มีอธิมุติดีก็เทียบเคียงเข้ากันได้กับพวกที่มีอธิมุติดี.
               
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้อดีตกาล ว่าโดยธาตุ สัตว์ทั้งหลายก็เทียบเคียงเข้ากันได้ คือพวกที่มีอธิมุติเลวก็เทียบเคียงเข้ากันได้กับพวกที่มีอธิมุติเลว พวกที่มีอธิมุติดีก็เทียบเคียงเข้ากันได้กับพวกที่มีอธิมุติดี.
               
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้อนาคตกาล ว่าโดยธาตุ สัตว์ทั้งหลายจักเทียบเคียงเข้ากันได้ คือพวกที่มีอธิมุติเลวก็จักเทียบเคียงเข้ากันได้กับพวกที่มีอธิมุติเลว พวกที่มีอธิมุติดีก็จักเทียบเคียงเข้ากันได้กับพวกที่มีอธิมุติดี.
               
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ปัจจุบันกาลเดี๋ยวนี้ ว่าโดยธาตุ สัตว์ทั้งหลายย่อมเทียบเคียงเข้ากันได้ คือพวกที่มีอธิมุติเลวก็เทียบเคียงเข้ากันได้กับพวกที่มีอธิมุติเลว พวกที่มีอธิมุติดีก็เทียบเคียงเข้ากันได้กับพวกที่มีอธิมุติดี ดังนี้

               
ความที่สัตว์ทั้งหลายมีอธิมุติต่างกันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบดีแล้วเพียงใด ขึ้นชื่อว่าสัตว์ถึงสองคนมีอัธยาศัยอย่างเดียวกัน หาได้ยากในโลก เมื่อคนหนึ่งต้องการจะเดิน คนหนึ่งต้องการจะยืน เมื่อคนหนึ่งต้องการจะดื่ม คนหนึ่งต้องการจะบริโภค และแม้ในอาจารย์และศิษย์สองคนนี้ สุปปิยปริพาชกนี้กล่าวติพระพุทธเจ้า ติพระธรรม ติพระสงฆ์ โดยอเนกปริยาย ส่วนพรหมทัตมาณพผู้เป็นศิษย์ของสุปปิยปริพาชก คงกล่าวชมพระพุทธเจ้า ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์ โดยอเนกปริยาย อาจารย์และศิษย์ทั้งสองนั้นมีถ้อยคำเป็นข้าศึกแก่กันและกันโดยตรงฉะนี้ เดินตามพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ไปข้างหลังๆ ด้วยประการฉะนี้.
               


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ตำนานแม่กาเผือก

ดอกไม้ ดอกไม้ในสวยดอก ดอกไม้ในขันแก้วทั้งสาม ศรัทธาที่มีต่อพระรัตนตรัย

เจดีย์ทราย ตุงสงกรานต์ สัญลักษณ์ความรักความศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย