เจดีย์ทราย ตุงสงกรานต์ สัญลักษณ์ความรักความศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย

จดีย์ทราย เจดีย์แห่งความรักความศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย

ทรายริมแม่น้ำที่ถูกน้ำพัดมาติดหาด  ทับถมจนกลายเป็นชายหาด บางหาดเป็นทรายที่สะอาด งดงามสวยสดใส 

ทรายที่กองไว้เป็นกอง ๆอาจจะไม่มีความสำคัญ  แต่ผู้แสวงหาบุญเห็นความสำคัญของทราย

ในช่วงประเพณีสงกรานต์ ชาวล้านนาปักตุงช่อมงคล 108 เพื่อต้อนรับเถลิงศกเข้าสู่ปีใหม่  วันถัดไปจะเป็นการร่วมกันก่อพระเจดีย์ทรายเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา







ตุงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญเพื่อนำมาปักถวายเป็นพุทธบูชาต่อพระพุทธเจ้าทั้ง 5พระองค์ และแสดงถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไป  ชาวล้านนามีความเชื่อว่าชายตุงยิ่งยาวยิ่งทำให้เกิดอานิสงส์ของบุญมากขึ้น  ชายตุงจะตวัดให้ดวงวิญญานที่ตกนรกขึ้นสู่สรวงสวรรค์


การก่อเจดีย์ทราย มักจะทำในช่วงสงกรานต์เพราะถือว่าเวลาเข้าวัดทรายจะติดเท้าออกไปด้วยถือว่าเป็นการทำบาป ดังนั้นจึงขนทรายมาไว้ที่วัด 
คติทางอาณาจักรพุกามที่กล่าวถึงการตั้งจิตอธิษฐานของไก่อันเป็นตำนานเจดีย์ชเวดากอง
ไก่มีความปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทีปังกรได้แนะนำให้ไก่สร้างเจดีย์ทรายที่ริมหาด ไก่จึงเขี่ยทรายกองเป็นเจดีย์ทราย และพูดว่าอยากเป็นพระพุทธเจ้า สัตว์ในลำดับต่อไป อันประกอบไปด้วย นาค เต่า โค และ ราชสีห์ (ในบางตำนานบอกว่าเป็นนายพราน) มาช่วยกันก่อเจดีย์ทรายจนสำเร็จ ต่อมาได้มาเกิดเป็นไข่ทั้ง 5 ใบของพ่อแม่กาเผือก อันเป็นต้นตำนานการทานตุง หรือการถวายธง   
ทั้ง 5ได้มาบังเกิดเป็นพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ในภัทรกัปนี้ โดยที่ตุงมีสัญลักษณ์ต่าง ๆแทนพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์




การก่อเจดีย์ทรายมีหลายตำนานในตำนานของล้านนาที่จารึกในคัมภีร์ใบลานกล่าวว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้ากำเนิดเป็นชายสามัญ มีนามว่าติสสะเป็นผู้ที่ขยันขันแข็ง มีธรรมะประจำใจ วันหนึ่งได้ออกเดินทางไปหาฟืนไปเจอหาดทรายที่มีทรายสวยงามมีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า จึงนำทรายมาก่อเป็นพระเจดีย์ ฉีกเอาเสื้อที่สวมอยู่มาพันกับปลายไม้ทำเป็นยอดธงปักที่เจดีย์ทราย และอธิษฐานขอเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อมาโปรดสัตว์ให้พ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง




ในคัมภีร์พระไตรปิฎก เรื่อง ปุฬินุปปาทกเถราปทาน กล่าวถึงอานิสงส์ของการก่อเจดีย์ทรายด้วยความเลื่อมใสศรัทธา พระปุฬินุปปาทกได้นำทรายมาก่อเป็นเจดีย์ทรายและได้เอาดอกไม้นานาชนิดมาบูชาพระเจดีย์นั้นพร้อมทั้งแนะนำผู้เป็นศิษย์ทั้งหลายให้เคารพเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าทั้งหลายด้วยเหตุนั้นเมื่อละจากการเป็นมนุษย์ในภพนั้น ท่านได้ไปเทวโลก18กัป ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 500 ครั้ง ในชาติสุดท้ายท่านได้มาเป็นพุทธสาวกและเข้าสู่พระนิพพานอันเป็นแดนแห่งความสุขนิรันดร์ในที่สุด

ประเพณีการขนทรายเข้าวัดของชาวพุทธล้านนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เริ่มต้นในวันที่ 14 เมษายน ในบางพื้นที่อาจะเริ่มต้นในวันที่ 13 เมษายน จนถึง 15 เมษายน

เมื่อก่อพระเจดีย์ทรายเรียบร้อยแล้ว จึงมีการปักตุงนักษัตร หรือตุงสิบสองราศี อันเป็นตัวแทนสมาชิกในครอบครัวทั้งที่มีชีวิตอยู่และล่วงลับไป การถวายตุงนักษัตรถือว่าได้บุญมาก เสมือนได้ถวายเป็นพุทธบูชาต่อพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ ทำให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข มีความเจริญก้าวหน้า ปลอดภัยจากบาปทั้งปวง  สำหรับผู้ที่ล่วงลับไปที่ต้องตกนรกเพราะทำบาปเมื่อครั้งที่มีชีวิตอยู่ชายตุงจะตวัดดวงวิญญานขึ้นสู่สวรรค์ ผู้ที่ถวายเมื่อสิ้นอายุขัยดวงวิญญานจะได้ไปอยู่กับพระธาตุตามชะตาปีเกิด






การปักตุงไส้หมู เป็นการเคารพต่อพระรัตนตรัย ตุงไส้หมูมีลักษณะคล้ายกับดอกบัว  พระปราค์หรือเจดีย์  เป็นตุงที่ขาดไม่ได้ในประเพณีสงกรานต์ ใช้ปักบนเจดีย์ทราย

การชักชวนสมาชิกในครอบครัว และทุกครอบครัวในชุมชน ขนทรายเข้าวัด ปักตุงเพื่อถวายเป็นพุทธบูชานั้น นอกจากจะเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ ระหว่างบ้าน -ชุมชน-วัด ยังก่อให้เกิดความสามัคคี รักใคร่ กลมเกลียวอีกด้วย



**สรุป


กิจกรรมการขนทรายเข้าวัด  การถวายตุงไส้หมูและตุงนักษัตรในช่วงประเพณีสงกรานต์ก่อให้เกิดหลักธรรมที่มีผลต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อชุมชนและวัด ดังนี้



-  เกิดความเคารพในพระรัตนตรัย อันประกอบไปด้วยพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ 



- เป็นการแสดงถึงความกตัญญูที่มีต่อพระรัตนตรัย  ต่อบรรพบุรุษ และผู้ที่มีพระคุณ

-กิจกรรมดังกล่าวทำให้เกิดคารวะธรรมที่ทำให้เกิดความเคารพต่อพระรัตยตรัย ต่อบรรพบุรุษ ต่อตนเองและผู้ที่อยู่รอบข้าง ทำให้สังคมเป็นสุข

-  เกิดความสามัคคีระหว่างสมาชิกในครอบครัว ชุมชน และ วัด ทำให้เกิดการพัฒนาสังคมชุมชน

-   เป็นการสืบสานอายุพระพุทธศาสนาด้วยการแทรกกิจกรรมการขนทรายเข้าวัด การถวายตุงเพื่อเป็นการทำบุญ






คำสำคัญ:เจดีย์ทราย ตุง สงกรานต์

References :
พระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 25 [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค 2 พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
เรื่อง ปุฬินุปปาทกเถราปทาน ประวัติในอดีตชาติของพระปุฬินุปปาทกเถระ อานิสงส์การบูชาเจดีย์ทราย

พระไตรปิฎกเล่มที่32 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 24[ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค 2
เรื่อง อุปวาณเถราปทาน ประวัติในอดีตชาติของพระอุปวาณเถระ อานิสงส์การยกธง

http://lannamanuscripts.net/th/manuscripts
คัมภีร์ใบลานอานิสงส์เจดีย์ทราย  วัดป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน  จารเมื่อ จ.ศ.1294

มณี พยอมยงค์  
2529
.ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย :เชียงใหม่ ส.ทรัพย์การพิมพ์

สากล จริยวัฒนานนท์.รศ.ดร 
2550
บทความ:มองภูมิปัญญาผ่านตุง.วารสารพัฒนาสังคม ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 























ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ตำนานแม่กาเผือก

ดอกไม้ ดอกไม้ในสวยดอก ดอกไม้ในขันแก้วทั้งสาม ศรัทธาที่มีต่อพระรัตนตรัย