ข้าว ประเพณีเกี่ยวข้าว ลงแขก สามัคคีธรรม พลังแห่งหมู่คณะ



ข้าว เป็นปัจจัยหลักในการบริโภคในชีวิตประจำวัน การปลูกข้าวจึงมีความสำคัญต่อคนไทย

วิถีชีวิตของคนไทยจึงผูกพันอยู่กับข้าว ก่อให้เกิดพิธีกรรมเกี่ยวกับการปลูกข้าวหรือการทำนา
  



ประเพณีลงแขกจึงเป็นประเพณีที่สำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับการทำนาข้าว 

โดยมีลำดับขั้นตอนดังนี้ การดำนา  เกี่ยวข้าว นวดข้าว และการเก็บข้าวขึ้นยุ้งฉาง 

แต่ละลำดับขั้นตอนมีความสำคัญมาก ล้วนแต่เป็นงานที่หนักและต้องใช้กำลังคนเป็นจำนวนมาก

จึงต้องมีการร่วมมือร่วมใจสามัคคีเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี


ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว จึงเป็นประเพณีที่แสดงให้เห็นถึงการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 

อีกทั้งยังสามารถช่วยสร้างความสมัครสมานสามัคคี และแสดงน้ำใจที่มีให้กันในการอยู่ร่วมกันในชุมชน



  • ตอนที่ 1 ประเพณีการเกี่ยวข้าว

ประเพณีเกี่ยวข้าวภาคกลาง

การลงแขกเกี่ยวข้าวภาคกลาง มีขึ้นในช่วงเดือนอ้ายและเดือนยี่ 



ชาวนาจะมาร่วมแรงร่วมใจกันช่วยกันเกี่ยวข้าว ด้วยการเริ่มต้นเข้าแถวเรียงหน้ากระดาน และเกี่ยวในแนว

ของตน จากนั้นช่วยกันรวบรวมมัดกำข้าวเป็นฟ่อน ๆ รวมกันหาบเข้าสู่ลานข้าว
  
มีการเก็บรวงข้าวที่ตกอยู่ในนา เรียกว่า “อัญเชิญแม่โพสพ“


ประเพณีการเกี่ยวข้าวภาคเหนือ

เมื่อเข้าสู่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป ในทางภาคเหนือ 

เมื่อข้าวในนาเหลืองอร่ามเต็มที่ จะเป็นฤดูเก็บเกี่ยวที่เรียกกันว่า 

“เก็บข้าวเอาเฟือง” หมายถึงการเกี่ยวข้าวเพื่อเอาฟางข้าว 

ชาวบ้านจะทำการลงแขกคือผลัดกันไปช่วยเกี่ยวข้าวในแปลงนาของเพื่อนบ้านให้เสร็จเป็นราย ๆไป 

ในการเกี่ยวข้าวนั้น นิยมเกี่ยวข้าวเรียงคนให้เป็นหน้ากระดาน เสร็จเป็นแต่ละกระทงนาไป 




ประเพณีเกี่ยวข้าวภาคใต้

ประเพณีลงแขกเก็บข้าว (เกี่ยวข้าว) ด้วยแกะ ซึ่งเป็นวิธีการเก็บข้าวของชาวนาในภาคใต้ตั้งแต่บรรพบุรุษ

โดยจะใช้แกะเก็บทีละรวงแล้วนำมามัดเป็นเลียง โดยใช้ต้นข้าวมัดแทนเชือกการเก็บข้าวด้วย 

และแกะยังเป็นเอกลักษณะที่มีเฉพาะในภาคใต้เท่านั้น




ประเพณีการเกี่ยวข้าวภาคอีสาน

ประเพณีลงแขก การเก็บเกี่ยวข้าว ปกติจะเริ่มเก็บเกี่ยวราวปลายเดือนพฤศจิกายน 

เพื่อให้การเก็บเกี่ยวข้าวรวดเร็วขึ้น ชาวนาจะใช้วิธีลงแขก อันเป็นการเอาแรงผลัดกันช่วยทำงาน 

ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยชาวนาจะส่งลูกหลานในครอบครัว ไปช่วยครอบครัวอื่นที่นาข้าวสุก

พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวได้ 

ในโอกาสต่อไป เมื่อข้าวในนาของตนเองสุก 

ชาวนาที่เคยไปเอาแรงก็จะส่งบุคคลในครอบครัวมาช่วยกันเกี่ยว 

ผู้ที่มาช่วยเกี่ยวเรียกว่าแขก โดยเกี่ยวข้าวเรียงกันเป็นหน้ากระดาน 

ใครเกี่ยวได้แนวจดคันนาแล้วก็หยุดพัก รอคอยคนอื่นซึ่งเกี่ยวแนวของตนมายังไม่ถึง 

เมื่อเกี่ยวเสร็จทุกคน แล้วจึงจะไปเกี่ยวตอนอื่นๆต่อไป



  • ตอนที่ 2 ประเพณีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว
การถวายข้าวใหม่

หลังจากฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวในทุกภาค ชาวนาจะทำบุญถวายข้าวที่เก็บเกี่ยวใหม่ 

อุทิศให้กับบรรพบุรุษที่ตนเองได้รับช่วงผืนนา 

ทำบุญถึงปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ที่เป็นเจ้าของไร่เจ้าของนามาแต่เดิม 

ทำบุญให้กับแม่โพสพที่เชื่อกันว่าเป็นเทวดาที่ดูแลผืนนา 

มีการนำข้าวใหม่มาทำบุญถวายพระ




ในการถวายข้าวที่เก็บเกี่ยวขึ้นมาใหม่นั้น 

วัดจะมีการปูเสื่อกลางวิหารที่จะมีพิธีกรรมในการถวายข้าวใหม่ 

มีการวางบาตรพระเพื่อให้ชาวบ้านนำข้าวมาใส่ในบาตรจนล้นออกนอกบาตร 

มักจะเป็นข้าวเปลือกหนึ่งจุด และข้าวสารหนึ่งจุด
   

การตักบาตรข้าวล้นบาตร

การตักบาตรข้าวล้นบาตรนี้ มีจุดประสงค์เพื่อถวายพระในยามที่ฝนตกหนัก อาจจะไปบิณฑบาตรไม่ได้ 

และเพื่อให้กับชาวบ้านผู้ยากไร้ หรือชาวนาที่พืชผลการผลิตไม่ดีในปีนั้น ๆ
  
การตักข้าวล้นบาตรถือกันว่าเป็นการถวายกุศลให้กับแม่โพสพ  ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา  

และมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อผู้ยากไร้ที่อาศัยในชุมชนนั้น ๆ  

พิธีกรรมนี้ ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี และความเอื้อเฟื้อต่อกัน

กิจกรรมที่กระทำมีวัดเป็นศูนย์กลาง และเป็นการรวมสมาชิกของชุมชนอีกด้วย



    
ประเพณีบุญคูณลาน 

ประเพณีการสู่ขวัญข้าวของชาวอีสาน จัดขึ้นในเดือนยี่ เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า "บุญเดือนยี่" 

เป็นการเก็บเกี่ยวข้าวมากองที่ลานนวดข้าวให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นวันที่ทำบุญใหญ่ 

มีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวด รวมทั้งการเชื้อเชิญสมาชิกในชุมชนเข้ามาร่วมกิจกรรม 

ในบางพื้นที่มีการจัดบุณคูณลานที่วัด เป็นการทำบุญให้กับแม่โพสพ 

ทำบุญอุทิศให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไป 

และเป็นการรวมตัวของสมาชิกในชุมชน ที่ร่วมมือร่วมใจในการลงแขกข้าวจนสำเร็จในที่สุด 




  • ตอนที่ 3  สามัคคีธรรม พลังแห่งความสำเร็จ
อปริหานิยธรรม 7 ของกษัตริย์วัชชี หรือ วัชชีอปริหานิยธรรม 7 (ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว สำหรับหมู่ชนหรือผู้บริหารบ้านเมือง)

การลงแขก เป็นวัฒนธรรมประเพณีแห่งความเอื้อเฟื้อและเกื้อกูลกันของสังคมไทยทุกภาค 

การร่วมมือร่วมแรงร่วมใจ ก่อให้เกิดพลังที่ทำให้ไปสู่ความสำเร็จ 

เป็นพลังที่เรียกกันว่าทำงานร่วมกันเป็นทีม 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน วินัยปิฎก จุลลวรรค ความว่า


สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี   สมคฺคานญฺจนุคฺคโห

สมคฺครโต ธมฺมฏฺโฐ     โยคกฺเขมา น ธํสติ

สงฺฆํ สมคฺคํ กตฺวาน     กปฺปํ สคฺคมฺหิ โมทติ


ความพร้อมเพรียงของหมู่ ให้เกิดสุข การสนับสนุนผู้พร้อมเพรียงกัน เป็นเหตุแห่งความสุข

บุคคลผู้ยินดีในความพร้อมเพรียง ตั้งมั่นอยู่ในธรรม ย่อมไม่เสื่อมจากธรรมอันเกษมจากโยคะ

นรชนผู้สมานหมู่คณะ ให้พร้อมเพรียงกันแล้ว ย่อมบันเทิงในสุคติสวรรค์ตลอดกัป”


หลักธรรมที่ก่อให้เกิดความสามัคคีต่อหมู่คณะและชุมชน คือ 

อปริหานิยธรรม 7 ของกษัตริย์วัชชี หรือ วัชชีอปริหานิยธรรม 7 ข้อ ประกอบด้วย 

       1. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ 

       2. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ

 
           ข้อนี้แปลอีกอย่างหนึ่งว่า : พร้อมเพรียงกันลุกขึ้นป้องกันบ้านเมือง พร้อมเพรียงกันทำกิจทั้งหลาย


       3. ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ (อันขัดต่อหลักการเดิม) ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้ (ตามหลักการ


เดิม) ถือปฏิบัติมั่นตามวัชชีธรรม (หลักการ) ตามที่วางไว้เดิม

       4. ท่านเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ในชนชาววัชชี เคารพนับถือท่านเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่ง


อันควรรับฟัง 

       5. บรรดากุลสตรีกุลกุมารีทั้งหลาย ให้อยู่ดีโดยมิถูกข่มเหง หรือฉุดคร่าขืนใจ

 
       6. เคารพสักการะบูชาเจดีย์ (ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ ตลอดถึงอนุสาวรีย์ต่างๆ) ของวัชชี (ประจำ


ชาติ) ทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลีที่เคยให้เคยทำแก่เจดีย์เหล่านั้น

เสื่อมทรามไป 

       7. จัดให้ความอารักขา คุ้มครอง ป้องกัน อันชอบธรรม แก่พระอรหันต์ทั้งหลาย (ในที่นี้กินความกว้าง


 หมายถึงบรรพชิตผู้ดำรงธรรมเป็นหลักใจของประชาชนทั่วไป) ตั้งใจว่า ขอพระอรหันต์ทั้งหลายที่ยังมิได้

มา พึงมาสู่แว่นแคว้น ที่มาแล้วพึงอยู่ในแว่นแคว้นโดยผาสุก 


อปริหานิยธรรม 7 ประการนี้ พระพุทธเจ้าตรัสแสดงแก่เจ้าวัชชีทั้งหลาย


ผู้ปกครองรัฐโดยระบอบสามัคคีธรรม  ซึ่งรัฐคู่อริยอมรับว่า 

เมื่อชาววัชชียังปฏิบัติตามหลักธรรมนี้ จะเอาชนะด้วยการรบไม่ได้

 นอกจากจะใช้การเกลี้ยกล่อมหรือยุแยกให้แตกสามัคคี


สังคมเกษตรกรรมในยุคเก่าได้เปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันชาวนาได้มีการเกี่ยวข้าวโดยใช้รถเกี่ยวข้าว

การลงแขกดั้งเดิมสูญหายไปบ้าง แต่กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ "ข้าว "ยังคงอยู่ 

ดังเช่น ประเพณีการตักข้าวล้นบาตร  ประเพณีบุญคูณลาน ประเพณีในภาคอื่น ๆที่เกี่ยวข้องกับ " ข้าว " 

ประเพณีเหล่านี้มี "วัดเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงความสามัคคี 

อันเป็นพลังที่ทำให้สังคมชุมชนเข้มแข็ง นำไปสู่การพัฒนาประเทศ ให้เจริญก้าวหน้าต่อไป 

Cr.Arayadusit


References:

พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พุทธศักราช 2539.โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม  พระพรหมคุณ่ภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต ) 
พระธรรมปิฏก (ประยุทธ์ ปยุตโต ) อปริหานิยธรรม 

ประกอบ มีโคตรกอง,ผศ .2558.การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมข้าวของชาวเกษตรกร
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
http://brpd.ricethailand.go.th กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว







ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ตำนานแม่กาเผือก

ดอกไม้ ดอกไม้ในสวยดอก ดอกไม้ในขันแก้วทั้งสาม ศรัทธาที่มีต่อพระรัตนตรัย

เจดีย์ทราย ตุงสงกรานต์ สัญลักษณ์ความรักความศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย