ดอกไม้ ดอกไม้ในสวยดอก ดอกไม้ในขันแก้วทั้งสาม ศรัทธาที่มีต่อพระรัตนตรัย
ดอกไม้ ดอกไม้ในสวยดอก ดอกไม้ในขันแก้วทั้งสาม วิถีศรัทธาที่มีต่อพระรัตนตรัย
เมื่อชาวล้านนารับพระพุทธศาสนา ด้วยความเคารพ เลื่อมใส ศรัทธา ดังนั้นในโอกาสที่สำคัญ เช่น วันพระ ชาวพุทธล้านนาจะไปทำบุญที่วัด สิ่งที่นำไปด้วยนอกเหนือจากเครื่องไทยธรรม และภัตตาหาร สิ่งหนึ่งที่ชาวพุทธล้านนาจะต้องนำไปด้วย คือ สวยดอกไม้
Cr.ภาพ arayadusit
- ตอนที่ 1
ดอกไม้ใน สวยดอกดอกไม้ในสวยดอก หมายถึง ดอกไม้ที่ใส่ในกระสวยที่ทำจากใบตอง ใบไม้ที่สามารถขดม้วนเป็นรูปกรวย บางครั้งใช้กระดาษขดม้วนเป็นรูปกรวย
ชาวล้านนาออกเสียงจากคำว่า "กระสวย " เป็น "สวย "
นักวิชาการ รองศาสตราจารย์ จารุนันท์ เชาวน์ดี กล่าวไว้ว่า สวยดอกไม้ เป็นเพียงส่วนประกอบเล็กน้อยของพิธีกรรมหรือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องสักการะบูชา แต่สิ่งนี้คือเอกลักษณ์ของล้านนา ชาวล้านนามีความเคารพเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทำให้มีความเชื่อว่า ดอกไม้ คือของหอมที่ใช้สำหรับบูชาเป็นเครื่องแสดงถึงความเคารพสักการะ
รูปแบบของสวยดอกไม้แบ่งเป็น 2 ประเภท
1. สวยดอกไม้แบบธรรมดา คือ สวยที่ใช้ใบตองม้วนเป็นกรวย กลัดด้านในด้วยไม้กลัด ไม่ตกแต่งขอบ เป็นแบบสวยธรรมดา นิยมทำแบบเล็ก ๆ ใส่สวยด้วยดอกไม้ ข้าวตอก ธูป เทียน ใบหมากผู้หมากเมีย ใบโกสน ใบเล็บครุฑ ดอกซอมพอ ดอกเอื้อง หรือ ดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม
2. สวยดอกไม้แบบกาบ เป็นสวยดอกไม้ที่ตกแต่งปากสวย ด้วยการพับใบตองเป็นกาบรูปแบบต่าง ๆ เย็บด้วยไม้กลัด มีชื่อตามกาบของสวย รูปแบบที่ประดิษฐ์สันนิษฐานว่ามาจากปีนักษัตร์
- ตอนที่ 2
ขันแก้วทั้งสามขัน หมายถึงพาน ในที่นี้หมายถึงพานใบใหญ่ ทำด้วยไม้ที่มีฐานสูงประมาณ 3 นิ้ว แกะสลักเป็นรูปพญานาค 3 ตน บางแห่งทำเป็นสามแฉกคือทำเป็น 3 มุม เพื่อให้สาธุชนชาวพุทธใส่สวยดอกไม้ โดยแต่ละมุมหมายถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งหมายถึงแก้วสามดวง
ขันแก้วทั้งสามจึงหมายถึง พานดอกไม้ที่บูชาพระรัตนตรัย
การวางสวยดอกไม้ในขันแก้วทั้งสามนั้น การวางสวยดอกไม้ จะมีการวางเป็น 3 ชุด และต้องกล่าวบูชาพระรัตนตรัยดังนี้
สวยดอกไม้ อันดับที่ 1 กล่าวว่า พุทโธ อะระหัง
สวยดอกไม้ อันดับที่ 2 กล่าวว่า ธัมโมปัจจัตตัง
สวยดอกไม้ อันดับที่ 3 กล่าวว่า สังโฆ ยะทิทัง
การวางสวยดอกไม้ในขันแก้ว ชาวพุทธล้านนาจะวางด้วยความเคารพ ศรัทธาเลื่อมใส ชาวพุทธล้านนาค่อนข้างให้ความเคารพขันแก้วทั้งสามถือเป็นเครื่องสักการะพระรัตนตรัย จึงไม่บังควรนำขันแก้วทั้งสามไปใช้ในสิ่งที่ผิดจากเจตนาชาวพุทธ การนำไปใช้ในที่ไม่สมควรผู้อาวุโสของชาวพุทธล้านนากล่าวกันว่าจะทำให้ไม่เจริญทั้งอาชีพการงาน เงินทองจะขัดสน เพราะพานขันแก้วเป็นพานที่มีไว้เพื่อวางดอกไม้ในการสักการะบูชาพระรัตนตรัยเท่านั้น
- ตอนที่ 3 อานิสงส์การบูชาพระพุทธเจ้าด้วย พวงมาลัยดอกมะลิ
พวงมาลัยดอกมะลิ
การนำดอกไม้มาบูชาพระรัตนตรัย ปรากฏในพระไตรปิฏก แม้เป็นเพียงดอกหญ้าเพียงดอกเดียว แต่บูชา สักการะด้วยความเลื่อมใส เคารพ ศรัทธา ย่อมได้รับอานิสงส์ของการบูชา ในที่นี้ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างของการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยพวงมาลัยดอกมะลิ ซึ่งเป็นปรกติที่ชาวพุทธส่วนใหญ่นิยมมาร้อยบูชา ที่ว่ากันว่า ตั้งแต่ปู่ย่าตายาย มาจวบจนปัจจุบัน
Cr.ภาพ Arayadusit
ในพระไตรปิฎก กล่าวถึงอานิสงส์ของการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยพวงมาลัยดอกมะลิ พระสุมนาเวฬิยเถระ ได้นำพวงมาลัยดอกมะลิมากราบถวายพระเวสสภูพุทธเจ้า ด้วยความเคารพเลื่อมใส ด้วยอานิสงส์ของการบูชาด้วยพวงมาลัยดอกมะลิ เมื่อละอัตตภาพจากการเป็นมนุษย์ ได้ไปเสวยสุขที่สวรรค์ชั้นนิมมานรดี ไม่รู้จักทุคติภูมิเลย และในพุทธันดรนี้ ท่านได้มาเป็นพุทธสาวกของพระโคตมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้ธรรมเข้าสู่พระนิพพานในที่สุด
- ตอนที่ 4
คารวธรรม
ความเคารพในพระรัตนตรัย ปรากฏในหลักธรรมที่เรียกว่าคารวธรรม เป็นหลักธรรมที่ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคีต่อกัน เมื่อชาวล้านนารับพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นกฎเกณฑ์ทางสังคม เคารพต่อพระรัตนตรัย เคารพผู้อาวุโสในเครือญาติ เคารพต่อกัน และเคารพหลักธรรมในตนเอง ทำให้สังคมสงบ ร่มเย็นและเกิดความสามัคคี รักใคร่ ปรองดอง
คารวะ หรือ คารวตา 6 (ความเคารพ, การถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะพึงใส่ใจและปฏิบัติด้วยความเอื้อเฟื้อ หรือโดยความหนักแน่นจริงจัง, การมองเห็นคุณค่าและความสำคัญแล้วปฏิบัติต่อบุคคลหรือสิ่งนั้นโดยถูกต้อง ด้วยความจริงใจ)
1. สัตถุคารวตา ความเคารพในพระศาสดา ข้อนี้บางแห่งเขียนเป็น พุทธคารวตา (ความเคารพในพระพุทธเจ้า) 2. ธัมมคารวตา ความเคารพในธรรม
3. สังฆคารวตา ความเคารพในสงฆ์
4. สิกขาคารวตา ความเคารพในการศึกษา
5. อัปปมาทคารวตา ความเคารพในความไม่ประมาท
6. ปฏิสันถารคารวตา ความเคารพในปฏิสันถาร
ธรรม 6 อย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแห่งภิกษุ.
ในสังคมปัจจุบัน พระมหาเถระนักปราชญ์ รูปหนึ่ง ได้กรุณาเพิ่มเติมว่า ควรมีความเคารพในตนเองด้วย ความดีที่ตนเองได้กระทำ ตามกฎเกณฑ์ของศีลห้าอันเป็นปรกติในสังคมมนุษย์
ชาวพุทธล้านนาได้มีความเคารพเลื่อมใส ไม่ได้ดูเบาในสิ่งเล็กน้อยเช่นดอกไม้ รวมทั้งเครื่องสักการะ เช่นสวยดอกไม้ การพับใบไม้ที่มาประดิษฐ์เป็นกระสวย ต้องเลือกอย่างสะอาด ประณีต ม้วนกรวยขดอย่างระวัง บางครั้งซ้อนกระสวย หรือสวยถึงสองชั้น การประดิษฐ์ริมขอบกระสวย จัดทำอย่างงดงามทั้งนี้เพื่อบูชาพระรัตนตรัย ในส่วนของขันแก้วทั้งสาม การวางดอกไม้ในขันแก้วทั้งสาม ส่วนใหญ่มักจะให้ผู้อาวุโสที่สุดในชุมชนเป็นผู้วางสวยดอกไม้ เพื่อบูชาพระรัตนตรัยด้วยความเคารพก่อนเป็นคนแรก จากนั้นผู้ที่วางสวยดอกไม้ต่อไปเป็นไปตามลำดับ
ในส่วนของความเคารพในตนเอง สตรีชาวล้านนามีการเกล้าผมประดับด้วยดอกไม้ เป็นการเคารพสิ่งที่สูงสุดของร่างกาย มีคำกล่าวถึงการเหน็บดอกไม้ที่มวยผมดังนี้ "เหน็บดอกไม้บูชาหัว เพื่อก้มหัวบูชาพระเจ้า" พระเจ้าในที่นี้หมายถึงพระรัตนตรัยอันเป็นที่เคารพสักการะอันสูงสุด
Cr. ภาพ http://gotoknow.com
เอกสารอ้างอิง
มณี พยอมยงค์ .2529 ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย ส.การพิมพ์ เชียงใหม่
จารุนันท์ เชาวน์ดี , รศ 2555 สวยดอกไม้ล้านนา สาขาบ้านและชุมชน ภาควิชามนุษยศาสตร์. คณะมนุษยศาสตร์: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่มที่ 32 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 24
ขุททกนิกาย อปทาน ภาคที่ 1
เรื่อง สุมนาเวฬียเถราปทานที่ 8 ว่าด้วยผลแห่งการบูชาด้วยพวงมาลัยดอกมะลิ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
http://watthanatumlanna.blogspot.com
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น