ปันน้ำใจ ปันความสุข ปันความรัก

วิกฤตจากโรคระบาด ผู้คนตกงาน ไร้งาน ไร้เงิน  ไร้ปัจจัยในการดำรงชีวิตประจำวัน บางครอบครัวขาดแคลนอาหาร

เมื่อสถานการณ์โรคระบาดยังไม่มีทีท่าว่าจะเบาบาง จึงมีผู้ริเริ่มจัดทำโครงการ "ตู้ปันสุข" ด้วยการจัดข้าวสารอาหารแห้งใส่ไว้ในตู้ที่วางไว้ตามชุมชนเพื่อให้ผู้ที่ประสบภัยจากโรคระบาดได้นำไปรับประทานเพื่อบรรเทาในช่วงที่สภาวะของการระบาดของโรคยังไม่สร่างซา

ผู้คนที่ประสบกับความทุกข์ยากได้พากันมาเอาอาหาร น้ำดื่ม บางคนหยิบไปแต่พอประทังชีวิตและเหลือไว้ให้คนด้านหลังที่ต้องประสบเหตุเดียวกัน

ผู้ที่ไม่ย่อท้อในการทำความดี ยังคงมีการนำอาหารแห้ง ขนม น้ำดื่มหรือแม้แต่ผักผลไม้ มาเติมเต็มในตู้แห่งความรักและความสุขอยู่เรื่อย ๆ
แม้บางคนจะหยิบของไปทีละมาก ๆ จนของที่จำเป็นต้องหมดไปอย่างรวดเร็ว

เมื่อผู้เขียนยังเด็ก บ้านของผู้เขียนอยู่ที่จังหวัดของภาคเหนือ หน้าบ้านติดกับถนนใหญ่ มีผู้คนสัญจรไปมา รถราต่าง ๆวิ่งผ่านหน้าบ้าน  

ตัวบ้านเป็นเรือนไม้สัก สมาชิกในบ้านมีหลายคน แต่ละคนมีหน้าที่ต่าง ๆกันตามคำมอบหมายของผู้ที่อาวุโสที่สุดในบ้าน นั่นก็คือ "พ่ออุ๊ย"

หน้าที่ของผู้เขียนที่ได้รับมอบหมายคือการนำน้ำมาเติมในหม้อดินเผาหน้าบ้านทุกวัน หม้อดินเผานี้เมื่อเติมน้ำที่ใสสะอาดลงไป จะทำให้น้ำในหม้อดินค่อนข้างเย็นเหมาะในการดื่ม มักจะมีตะไคร่น้ำเขียวคล้ำจับอยู่รอบนอกหม้อ มีกระบวยตักน้ำทำจากกะลาใบน้อยวางหรือแขวนไว้ด้านข้าง ชาวเหนือล้านนาเรียกว่าร้านน้ำหม้อ (ฮ้านน้ำหม้อ)


วันหนึ่ง เล่น ๆอยู่หลังบ้าน  พ่ออุ๊ยเรียกมาตีที่มือสามที ด้วยข้อหาที่ไม่ได้เติมน้ำลงในหม้อดิน สารถีสามล้อปั่นผ่านมาคงจะกระหายน้ำดื่ม เมื่อเปิดหม้อดินเผาแล้วไม่มีน้ำ เลยไม่ได้ดื่มน้ำ

พ่ออุ๊ยมองมาพอดี จึงโดนทำโทษ พร้อมกับคำสอนที่บอกว่า "คนเราทำมาหากินบนท้องถนนที่ร้อน ต้องอยากดื่มน้ำ เมื่อเปิดหม้อดินไม่เจอน้ำเขาจะรู้สึกอย่างไร อย่าไร้น้ำใจ ต้องแบ่งปันให้กับคนอื่น ๆ บ้าง" คำสอนนี้ดังก้องอยู่ในใจ แม้ว่าพ่ออุ๊ยจะลาลับไปนานแล้ว

ดังนั้น เมื่อมีโครงการ "ตู้ปันสุข"จึงเป็นโอกาสที่ดีในการแบ่งปันน้ำใจให้กัน ผู้ให้ย่อมมีความสุขในการให้ เป็นการแบ่งปันความสุขที่มีต่อกันในยามวิกฤต ซึ่งมีทั้งผู้ให้และผู้รับ  

ในขณะเดียวกัน ผู้ที่เคยรับจะกลับมาเป็นผู้ให้ในโอกาสต่อไป เป็นการจุนเจือที่มีความสุข

ในคัมภีร์พระไตรปิฎก กล่าวถึงอานิสงส์ของการให้ทาน อานิสงส์ในที่นี้หมายถึง ผลของการกระทำ เมื่อได้มีจิตที่จะทำบุญด้วยการให้สิ่งของที่หามาด้วยตนเอง

ครั้งหนึ่งพระโมคคลานะเถระ ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท่านได้เจอเทพบุตรที่มีวิมานสว่างไสวรายล้อมไปด้วยปราสาทที่มีเสาทำด้วยแก้วไพฑูรย์ ปูลาดพื้นปราสาทด้วยทองคำ

พระเถระจึงถามเทพบุตรท่านนั้นว่าทำบุญมาด้วยอะไร เทพบุตรจึงตอบพระเถระด้วยความปลาบปลื้มใจว่า เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ได้เห็นพระภิกษุลำบาก อดอยาก จึงได้ถวายอาหารพร้อมเครื่องไทยทาน เมื่อละภพมนุษย์จึงได้มาเสวยสุขในวิมานแห่งนี้

ในพระสูตร ธนปาลเปตวัตถุ กล่าวถึงบุพกรรมที่ต้องมาเสวยทุกขเวทนาที่ต้องเกิดมาเป็นเปรต

ธนปาลเศรษฐีเป็นผู้ที่มั่งคั่งร่ำรวย ไม่รักในการทำบุญทำทาน รังเกียจคนยากจน ไม่มีศรัทธาในการทำทาน ไม่เชื่ออานิสงส์ของการทำทาน ทำลายสระน้ำ สวนผลไม้  สวนสาธารณะ สะพาน
เป็นผู้ที่หวงแหนทรัพย์ โดยที่เข้าใจว่า การเก็บทรัพย์ที่ดีคือต้องไม่ให้ทรัพย์กับผู้ใด ดังนั้น เมื่อตายไปจึงไปเกิดเป็นเปรตที่มีเปลวเพลิงล้อมอยู่ตลอดเวลา หิวโหยถึง 55 ปีโดยที่ไม่มีน้ำและอาหารตกถึงท้องเลย

กล่าวโดยสรุป

พระไตรปิฎกเรื่อง ทานานิสังสสูตร กล่าวถึงอานิสงส์ ของการให้ทาน
อานิสงส์แห่งการให้ทาน 5 ประการนี้
1.ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของคนหมู่มาก
2.สัปบุรุษผู้สงบย่อมคบหาผู้ให้ทาน
3.กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทานย่อมขจรไปทั่ว
4.ผู้ที่ให้ทาน ย่อมไม่ห่างเหินจากธรรมะของคฤหัสถ์
5.ผู้ที่ให้ทานเมื่อตายไปแล้วย่อมถึงสุคติโลกสวรรค์

เมื่อมีการเข้าใจผิดคิดว่าการไม่สละทรัพย์เป็นการเก็บทรัพย์ที่ดีที่สุด พระไตรปิฎกเรื่อง ธนปาลเปตวัตถุ จึงกล่าวถึงการเก็บทรัพย์ที่ไม่ถูกต้องดังนี้ 
 "...การสงวนทรัพย์ คือไม่ให้แก่ใคร ๆ เป็นความพินาศของสัตว์ทั้งหลาย ความฉิบหายก็คือการสงวนทรัพย์ ได้ยินว่าเปรตทั้งหลายรู้ว่า การสงวนทรัพย์ คือการไม่ให้แก่ใคร ๆเป็นความพินาศ
        เมื่อก่อน ข้าพเจ้าสงวนทรัพย์ไว้ เมื่อทรัพย์มีอยู่เป็นอันมาก ไม่ให้ทาน เมื่อไทยธรรมมีอยู่ไม่ทำที่พึ่งแก่ตน ข้าพเจ้าได้รับผลกรรมของตน จึงเดือดร้อนภายหลัง..."

ดังนั้น ผู้ที่มีใจเป็นกุศลจึ่งอิ่มเอิบอาบความสุขด้วยบุญแห่งการให้ทานเป็นการเติมความรัก แบ่งปันความสุขในยามวิกฤต 
 ....สังคมที่มีการแบ่งปัน ย่อมเป็นสังคมที่เป็นสุข ในที่สุด....

คำสำคัญ: ปันน้ำใจ ปันความสุข ปันความรัก
Cr.Arayadusit
Refer:
พระไตรปิฎก เล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14   อังคุตตรนิกาย ปัญจก - ฉักกนิบาต เรื่อง ทานานิสังสสูตร

พระไตรปิฎก เล่มที่ 26 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 18  ขุททกนิกาย
 วิมาน เปตวัตถุ เถร เถรีคาถา เรื่อง ภิกขาทายกวิมาน ว่าด้วยผลบุญที่ทำให้ไปเกิดในภิกขาทายกวิมาน

พระไตรปิฎก เล่มที่ 26 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 18  ขุททกนิกาย
 วิมาน เปตวัตถุ เถร เถรีคาถา เรื่อง ธนปาลเปตวัตถุ ว่าด้วยบุพกรรมของธนปาลเปรต







ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ตำนานแม่กาเผือก

ดอกไม้ ดอกไม้ในสวยดอก ดอกไม้ในขันแก้วทั้งสาม ศรัทธาที่มีต่อพระรัตนตรัย

เจดีย์ทราย ตุงสงกรานต์ สัญลักษณ์ความรักความศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย